วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางลดค่าไฟฟ้าสำหรับหม้อหุงข้าวไฟฟ้า











ลด...ละ...เลิก
  • หุงข้าวให้พอดีกับจำนวนคน
  • อย่าเปิดฝาหม้อหุงข้าวไฟฟ้าขณะที่ข้าวยังไม่สุก
  • ละเว้นการหุงข้าวในห้องที่มีการปรับอากาศ เพราะจะทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักมากขึ้น สิ้นเปลืองไฟฟ้า
  • ถอดปลั๊กหม้อหุงข้าวไฟฟ้าทันที่ที่เลิกใช้งาน

ดูแลรักษาและใช้อย่างถูกวิธี
  • หากเสียบปลั๊กหม้อหุงข้าวไฟฟ้าอยู่ อย่ากดสวิตซ์ ปิด-เปิด ขณะที่ไม่มีตัวหม้อชั้นใน
  • ก่อนวางตัวหม้อชั้นในให้ตรวจดูว่าไม่มีวัสดุอื่น หรือเศษผงที่ด้านในของตัวหม้อชั้นนอก เพราะอาจเกิดไฟฟ้าลัดวงจร และถ่ายเทความร้อนได้ไม่ดี

ปรับปรุง...เปลี่ยนแปลง
  • เลือกขนาดหม้อหุงข้าวไฟฟ้าให้เหมาะสมกับขนาดครอบครัว เช่น สมาชิก 1-2 คน ใช้ขนาด 0.3-1 ลิตร,สมาชิก 3-6 คน ใช้ขนาด 1-1.5 ลิตร, สมาชิก 5-8 คน ใช้ขนาด 1.6-2 ลิตร เป็นต้น

วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางลดค่าไฟฟ้าสำหรับเตาไมโครเวฟ








ลด...ละ...เลิก

  • เลิกใช้เตาไม่โครเวฟในห้องที่มีการปรับอากาศ
  • เลิกวางเตาไมโครเวฟใกล้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เช่น โทรทัศน์ หรือวิทยุ เพราะรบกวนระบบการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านนั้น

ดูแลรักษาและใช้อย่างถูกวิธี
  • ทำความสะอาดภายในเครื่องทุกคั้งหลังใช้ เพราะเศษอาหารที่ติดตามผนังจะลดประสิทธิภาพของเตา และอาจเกิดประกายไฟ
  • ควรตั้งเวลาให้สอดคล้องกับชนิด และปริมาณอาหาร
  • ควรใช้เตาไมโครเวฟเพื่อการอุ่นอาหาร ต้มน้ำเดือดปริมาณน้อย ละลายอาหารแช่แข็ง

ปรัึบปรุง....เปลี่ยนแปลง
  • หากความจุใกล้เคียงกัน ควรเลือกซื้อรุ่นที่กินกำลังไฟ (วัตต์) น้อยกว่า
  • เลือกขนาดเครื่องให้เหมาะกับปริมาณการใช้

วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางลดค่าไฟฟ้าสำหรับเตารีดไฟฟ้า


เตารีดแบบอัตโนมัติขนาด 750 วัตต์ ใช้งาน 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะใช้ไฟ 30 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟประมาณ 90 บาท และถ้าถอดปลั๊กก่อนเสร็จสิ้นการรีด 3 นาที 1 ล้านเครื่อง จะประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 5.4 ล้านบาท


ลด...ละ...เลิก

  • เลิกพฤติกรรมการรีดผ้าดูโทรทัศน์พร้อมๆ กัน
  • เก็บผ้าไว้รีดครั้งละมากๆ และรีดติดต่อกันจนเสร็จ จะไม่เปล์อง"ฟ
  • ไม่รีดผ้าที่ยังเปียกอยู่
  • ไท่พรมน้ำผ้าที่จะรีดจนชุ่มเกินไป
  • จัดผ้าที่ตากให้ยับน้อยที่สุด เพื่อลดเวลาในการรีด
  • ไม่รีดผ้าในห้องที่มีการปรับอากาศ
  • ถอดปลั๊กก่อนเสร็จการรีดประมาณ 2-3 นาที เพราะยังมีความร้อนเหลือเพียงพอ

ดูแลรักษาและใช้อย่างถูกวิธี
  • ดูแลแผ่นโลหะหน้าเตารีดให้สะอาด ทำให้รีดผ้าได้เรียบและเร็วขึ้น ช่วยลดเวลาการรีดผ้าลง ประหยัดค่าไฟได้มาก

วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางลดค่าไฟฟ้าสำหรับเครื่องเป่าผม


ถ้าใช้เครื่องเป่าผมขนาด 700 วัตต์ วันละ 1 ชั่วโมง จะใช้ไฟฟ้า 21 หน่วยต่อเดือน คิดเป็นค่าไฟ 63 บาทต่อเดือน ถ้าใช้ 1 ล้านเครื่องทั่วประเทศ จะคิดค่าไฟ 63 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 756 ล้านบาทต่อปี



ลด...ละ...เลิก

  • เช็ดผมให้แห้งหมาดก่อนใช้เครื่องเป่าผมเพื่อแต่งทรง
  • อยาใช้เครื่องเป่าผมกับงานผิดประเภท เช่น ใช้เป่าเสื้อผ้าให้แห้ง
  • ปิดสวิตซ์เครื่องเป่าผมขณะใส่เจลหรือครีบให้กับเส้นผม
  • หากใช้แค่เป่าผมให้แห้งโดยไม่ต้องการดัดหรือแต่งทรงผม ควรใช้ปุ่มลมเย็น จะช่วยประหยัดไฟกว่า

ปรับปรุง...เปลี่ยนแปลง
  • เลือกซื้อรูปแบบและขนาดให้เหมาะสมกับความต้องการใช้งาน
  • ควรซื้อเครื่องขนาดเล็ซึ่งใช้ไฟน้อย เช่น 400-700 วัตต์ ประหยัดกว่าใช้เครื่องขนาดใหญ่ 1000-1500 วัตต์

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางลดค่าไฟฟ้าสำหรับกระติกน้ำร้อน


กระติกน้ำร้อนขนาด 2.5 ลิตร 600 วัตต์ ถ้าเสียบปลั๊กทิ้งไว้วันละ 6 ชั่วโมง จะเสียค่าไฟเพิ่มขึ้น เดือนละ 54 หน่วย ถ้า 1 ล้านเครื่อง จะสิ้นเปลืองค่าไฟเดือนละ 162 ล้านบาท หรือปีละ 1,944 ล้านบาท (การทำงานของกระติกน้ำร้อน เมื่อน้ำเดือดแล้ว วงจรไฟฟ้าจะตัดไฟและต่อเองอัตโนมัติในทุก ๆ 2 นาที) กระติกน้ำร้อนขนาด 2.5 ลิตร 600 วัตต์ หากต้มน้ำทีละครึ่งกระติก (1.25 ลิตร) จะประหยัดกว่าเมื่อต้มน้ำที่เต็มกระติกร้อยละ 46

ลด...ละ...เลิก

  • เลิกใส่น้ำเกินกว่าที่ต้องการใช้
  • อย่าเสียบปลั๊กไว้นานก่อนการใช้งานจริง
  • เลิกต้มน้ำในห้องที่มีการปรับอากาศ
  • ถอดปลั๊กทันทีที่เลิกใช้
  • อย่านำน้ำเย็นไปต้มทันที

ดูแลรักษาและใช้อย่างถูกวิธี
  • อย่าให้มีตะกรันเกาะด้านในของตัวกระติกน้ำร้อน จะทำให้สิ้นเปลืองไฟเพราะต้องต้องใช้เวลานานขึ้นในการต้มน้ำ
  • อย่านำสิ่งใดๆ มาปิดช่องไอน้ำออก
  • หมั่นตรวจดูสายไฟฟ้า และขั้วปลั๊กอยู่เสมอ

ปรับปรุง...เปลี่ยนแปลง
  • เลือกขนาดของกระติกน้ำร้อนให้เหมาะสมกับความต้องการใช้
  • เลือกซื้อกระติกน้ำร้อนที่มีฉนวนกันความร้อน

วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางลดค่าไฟฟ้าสำหรับเครื่องซักผ้า


เครื่องซักผ้าแบบกึ่งอัตโนมัติ ขนาด 305 วัตต์ ใช้งานทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง จะใช้ไฟ 9.15 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟประมาณ 27.45 บาทต่อเดือน ถ้าใช้ จำนวน 1 ล้านเครื่องทั่วประเทศ จะเป็นค่าไฟ ประมาณ 27.45 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 329.4 ล้านบาทต่อปี


ลด...ละ...เลิก

  • ใช้เครื่องซักผ้าต่อเมื่อมีผ้ามากพอเหมาะกับพิกัดและขนาดของเครื่อง อย่าใช้เครื่องซักผ้าเพียงเพื่อซักผ้าไม่กี่ชิ้นเท่านั้น
  • ตั้งโปรแกรมที่ใช้น้ำร้อนเมื่อจำเป็นเท่านั้น

ดูแลรักษาและใช้อย่างถูกวิธี
  • ตั้งโปรแกรมการซักให้เหมาะสมกับชนิดของผ้าทุกครั้ง
  • แช่ผ้าก่อนนำเข้าเครื่อง จะช่วยให้ซักผ้าได้ง่ายขึ้น ทำให้สามารถเลือกโปรแกรมซักแบบประหยัดได้
  • ตั้งปริมาณน้ำและใส่ผงซักฟอกให้พอดีกับจำนวนผ้าที่จะซัก

ปรับปรุง...เปลี่ยนแปลง
  • เลือกขนาดเครื่องซักผ้าให้เหมาะสมกับการใช้งาน โดยเครื่องแบบเปิดฝาบนเหมาะกับการซักผ้าจำนวนน้อย ส่วนเครื่องแบเปิดฝาหน้าเหมาะกับการซักผ้าจำนวนมาก หรือซักผ้าห่ม
  • เครื่องซักผ้าแบบที่มีเครื่องอบแห้งในตัว จะสิ้นเปลืองมากกว่าแบบธรรมดา ควรตากผ้ากับแสงแดด หรือในที่มีลมพัดผ่านจะดีกว่า

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางลดค่าไฟฟ้าสำหรับปั๊มน้ำ

ปั๊มน้ำ 1/3 แรงม้า (249 วัตต์) ใช้ 5 ชั่วโมงต่อวัน ค่าไฟฟ้าประมาณเดือนละ 112.05 บาท ปั๊มน้ำ ½ แรงม้า (375 วัตต์) ใช้ 5 ชั่วโมงต่อวัน ค่าไฟประมาณเดือนละ 168.75 บาท ถ้าใช้ปั๊มน้ำขนาด 375 วัตต์ 1 ล้านเครื่องทั่วประเทศ จะเป็นค่าไฟประมาณ 168.75 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 2,025 ล้านบาทต่อปี


ลด...ละ...เลิก

  • เลิกเปิดปั๊มน้ำทิ้งไว้เมื่อไม่อยู่บ้าน หรือไม่ใช้งานนานๆ
  • ปิดก๊อกน้ำให้สนิททุกครั้ง น้ำหยดเพียงเล็กน้อยติดต่อกันนานๆ ก็ทำให้ปั๊มน้ำเดินเครื่องได้
  • อย่าเปิดก๊อกน้ำไปที่ระดับแรงสุด เพราะปั๊มน้ำจะทำงานหนัก และสิ้นเปลืองน้ำ
  • เลิกซักผ้าหรือล้างถ้วยชาม หรือล้างผลไม้โดยตรงจากก๊อกน้ำทีละชิ้น สิ้นเปลืองทั้งน้ำและไฟฟ้า
  • เลิกใช้ปั๊มน้ำเพื่อใช้ในการฉีดน้ำรดต้นไม้ หรือสนามหญ้า ควรใช้น้ำจากการซักล้าง หรือหลีกเลี่ยงโดยต่อน้ำจากก๊อกน้ำปกติที่ไม่ต้องใช้ปั๊มน้ำ

ดูแลรักษาอย่างถูกวิธี
  • คอยดูแลรักษาท่อน้ำ หัวฝักบัว และอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ให้รั่วซึม เพราะปั๊มน้ำจะทำงานหนักมากขึ้น เปลืองไฟมากขึ้นตามไปด้วย

ปรับปรุง...เปลี่ยนแปลง
  • เลือกปั๊มน้ำที่มีถังความดันประกอบสำเร็จเป็นชุด เพราะจะมีผลต่อการรักษาความดันของน้ำในการใช้งาน และช่วยประหยัดพลังงาน
  • เลือกปั๊มน้ำที่ใช้มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง
  • ติดตั้งระบบน้ำของปั๊มให้สามารถเก็บและจ่ายน้ำตามแรงโน้มถ่วงของโลก เพื่อลดการใช้พลังงานในการสูบน้ำภายในบ้าน เช่น ควาตั้งถังเก็บน้ำไว้ที่ชั้นบนสุดของบ้าน

เครื่องทำความเย็นแบบดูดซึม (Vapour Absorbtion Chiller)

เครื่องทำความเย็นแบบดูดซึม (Vapour Absorbtion Chiller)
ในระบบทำความเย็นและระบบปรับอากาศเดิมที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน จะอาศัยหลักการของเครื่องกลด้วยระบบแบบอัดไอ ระบบดังกล่าวต้องการปริมาณพลังงานในรูปของพลังงานกลเพื่อไปขับเคลื่อนให้เกิดการทำงาน โดยผ่านทางเครื่องอัดน้ำยา (Compressor) ดังนั้นจึงได้มีการคิดค้นวิธีใหม่เพื่อลดการใช้พลังงาน ระบบดังกล่าวคือ “ระบบแบบดูดซึม” (Absorption) พลังงานที่ต้องการใช้ในระบบเพื่อให้เกิดการทำงานจะอยู่ในรูปของพลังงานความร้อนเป็นส่วนใหญ่ ระบบนี้นอกจากจะเป็นการประหยัดพลังงานแล้ว ยังช่วยป้องกันและรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

หลักการทำงานของระบบทำความเย็นแบบดูดซึมเบื้องต้น

หลักการทำงานเบื้องต้นของระบบทำความเย็นแบบดูดซึม จะเริ่มต้นจากไอของสารทำความเย็นที่เกิดจากการเดือดในอิวาเพอร์เรเตอร์ (Evaporator) ที่อุณหภูมิ 5◦c และความดัน 6 mmHg ด้วยการดูดความร้อนจากสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้เป็นความร้อนแฝงของการกลายเป็นไอจะถูกดูดซึมด้วยสารดูดซึมผสมเป็นของเหลวในตัวดูดซึม (Absorber) จากนั้นจะถูกสูบโดยปั๊มเพื่อให้ความดันสูงขึ้นเป็น 72 mmHg ไปยังเจเนอเรเตอร์ (Generator) เพื่อรับความร้อนจากแหล่งกำเนิดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น น้ำร้อน ไอน้ำ หรือไอความร้อนเหลือจากการเผาไหม้ที่มีอุณหภูมิสูงประมาณ 100 ◦c - 200 ◦c เพื่อทำให้สารทำความเย็นแยกออกจากสารดูดซึมไอน้ำจะมากลั่นตัวที่ตัวควบแน่น (Condenser) ที่อุณหภูมิประมาณ 40 ◦c - 50 ◦c และกลับเป็นของเหลว ส่วนสารดูดซึมที่แยกสารทำความเย็นออกมาแล้ว จะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ที่ตัวดูดซึม และความร้อนที่คายออกมาก็จะระบายสู่สิ่งแวดล้อม


ประเภทของระบบทำความเย็น

ในปัจจุบันระบบทำความเย็นแบบดูดซึมที่มีการผลิตออกมาสู่ผู้ใช้จะประกอบด้วย 2 ประเภท ได้แก่ :-

  1. ระบบทำความเย็นแบบดูดซึมขั้นเดียว (รูปที่ 2)
  2. ระบบทำความเย็นแบบดูดซึมสองขั้น (รูปที่ 3)
แหล่งพลังความร้อนดังที่กล่าวมาแล้วถึงรูปแบบพลังความร้อนที่นำมาใช้ในระบบ คือ ไอน้ำและน้ำร้อน ส่วนแหล่งพลังงานที่จะนำมาใช้เพื่อผลิตพลังงานในรูปแบบดังกล่าวจะมาจากหลายแหล่งต่าง ๆ ดังนี้ :-
  1. หม้อไอน้ำที่ใช้ในปัจจุบัน ที่ยังมีปริมาณไอน้ำเหลือเพียงพอ ที่จะนำมาใช้ในระบบนอกจากที่ใช้ในกระบวนการผลิตปกติ
  2. หม้อไอน้ำใหม่ที่มีการติดตั้งเพื่อนำมาใช้กับระบบทำความเย็นโดยเฉพาะ
  3. การนำความร้อนทิ้งกลับมาใช้ใหม่ (Waste Heat Recovery) จากก๊าซที่ปล่อยทิ้งไว้ระบบของเครื่องยนต์ก๊าซ หรือกังหันก๊าซ (Gas Engines or Gas Turbines) ระบบดังกล่าวมักจะใช้ในโรงงานไฟฟ้า คือ โรงงานอุตสาหกรรมที่ ติดตั้งระบบผลิตความร้อน และไฟฟ้าร่วม (Cogeneration)
  4. ไอน้ำความดันต่ำจากการปล่อยทิ้งของกังหันไอน้ำ (Steam Turbines)
  5. น้ำร้อนจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือน้ำร้อนที่เหลือทิ้งจากขบวนการผลิต
ของเหลวที่ใช้ในระบบทำความเย็นแบบดูดซึมประกอบด้วยสารทำความเย็นและสารดูดซึมในปัจจุบันที่นิยมมาใช้สำหรับสารทำความเย็น คือ น้ำกลั่น ส่วนสารดูดซึม คือ ลิเธียมโบรไมด์ (LiBr)

ข้อเปรียบเทียบระหว่างระบบทำความเย็นแบบอัดไอและแบบดูดซึม


เมื่อเปรียบเทียบการทำงานของระบบทำความเย็น 2 แบบ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือ แบบอัดไอ และแบบดูดซึมพบว่าระบบดูดซึมจำเป็นต้องใช้แหล่งความร้อนที่อุณหภูมิสูง เพื่อให้เพียงพอที่จะแยกสารความเย็นออกจากสารดูดซึมได้ ดังนั้นปริมาณพลังงานทีต้องการทำงาจึงมีปริมาณมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับระบบอัดไอ ดังแสดงในรูปที่ 4 ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบการทำงานของระบบทำความเย็นทั้ง 2 ระบบ ปริมาณความร้อนส่วนนี้ในที่สุดก็จะถูกระบายออกที่ตัวควบแน่น ดังนั้นจึงทำให้เกิดการสูญเสียพลังงาน ดังนั้นเมื่อพิจารณาปริมาณความร้อนในเชิงเทอร์โมไดนามิกส์ของทั้ง 2 แบบแล้ว วิเคราะห์ค่าประสิทธิภาพ (COP) ก็จะพบว่าระบบดูดซึมจะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าระบบอัดไอมาก คือ ระบบอัดไอจะมีค่า COP ประมาณ 3.5 ในขณะที่ระบบดูดซึมมีค่า COP ประมาณ 1.2 แต่ระบบดูดซึมจะมีข้อได้เปรียบกว่าระบบอัดไอในเรื่องของพลังงาน ซึ่งก็คือแหล่งพลังความร้อนสามารถใช้ร่วมกับระบบหรือกระบวนการผลิตอื่น ๆ ได้ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อแหล่งพลังงานความร้อนและจะได้กล่าวต่อไปในหัวข้อจุดเด่นของระบบทำความเย็นแบบดูดซึม

จุดเด่นของระบบทำความเย็น

สำหรับจุดเด่นของระบบทำความเย็นแบบดูดซึม มีหัวข้อที่สำคัญ ดังนี้ :-
  1. การใช้พลังงานไฟฟ้าจะน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับระบบอัดไอ เช่น เมื่อเปรียบเทียบกับแบบอัดไอชนิดหอยโข่งจะใช้พลังงาน ไฟฟ้าเพียง 3% - 5% เป็นต้น
  2. ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะกับโซนในชั้นบรรยากาศ เนื่องจากสารทำความเย็นที่ใช้คือน้ำ ในขณะที่แบบอัดไอใช้ CFC
  3. มีการสั่นสะเทือนและเสียงดังในขณะปฏิบัติงานต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับระบบอัดไอ
  4. ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงต่ำ
  5. สามารถใช้ความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์จากที่ได้กล่าวมาแล้ว
  6. ระบบนี้สามารถเลือกที่จะให้ป้อนน้ำเย็นหรือน้ำร้อนได้ตามต้องการ
ที่มา โครงการลดต้นทุน SME

วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางลดค่าไฟฟ้าสำหรับวิทยุและเครื่องเสีย

วิทยุเครื่องเสียงที่เล่นได้ทั้งเทปและซีดี ถ้าเปิดฟังวันละ 4 ชั่วโมง แต่ปิดโดยรีโมทคอนโทรล โดยที่ยังเสียบปลั๊กอยู่ตลอดเวลาทั้งวัน (Standby) จะสิ้นเปลืองไฟ 5.4 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 64.8 ล้านบาทต่อปีวิทยุ 15 วัตต์ ถ้าเปิดทิ้งไว้ 3 ชั่วโมงต่อวัน จะกินไฟ 1.35 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟประมาณ 4.05 บาท ถ้าเปิดทิ้งไว้เช่นนี้ 1 ล้านเครื่อง จะสิ้นเปลืองค่าไฟเดือนละ 4.05 ล้านบาท หรือปีละ 48.6 ล้านบาท

ลด...ละ...เลิก
  • อย่าเปิดวิทยุเพียงแค่เพื่อเป็นเพื่อนโดยไม่ได้สนใจฟัง สิ้นเปลืองไฟฟ้าโดยเปล่าประโยชน์
  • อย่าเปิดวิทยุคู่กับเปิดดูโทรทัศน์
  • อย่าเสียบปลั๊กวิทยุไว้เพื่อใช้ดูเวลา หากมีนาฬิกาอื่นๆใช้ดูเวลาอยู่แล้ว
  • เลิกปิดเครื่องโดยใช้รีโมทคอนโทรล ให้ปิดจากสวิตซ์ที่เครื่องแทน

ดูแลรักษาและใช้อย่างถูกวิธี
  • ตั้งวิทยุและเครื่องเสียงให้ห่างจากเตาอบไมโครเวฟ เพื่อไม่ให้ระบบการทำงานถูกคลื่นไมโครเวฟรบกวน

ปรับปรุง...เปลี่ยนแปลง
  • เลือกซื้อรุ่นที่เหมาะกับการใช้งาน หากไม่มีความจำเป็นต้องซื้อรุ่นที่มีระบบการทำงานหลายอย่างก็ไม่ควรซื้อรุ่นนั้น เพราะสิ้นเปลืองไฟมากกว่าระบบธรรมดา

วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางลดค่าไฟฟ้าสำหรับเครื่องดูดฝุ่น


เครื่องดูดฝุ่นขนาด 1,000 วัตต์ ใช้วันละ 1 ชั่วโมง จะใช้ไฟ 30 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟประมาณเดือนละ 90 บาท ถ้าใช้เครื่องดูดฝุ่นขนาดนี้ 1 ล้านเครื่องทั่วประเทศ จะเป็นค่าไฟประมาณ 90 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 1,080 ล้านบาทต่อปี




ลด...ละ...เลิก

  • เมื่อใช้ควรเทฝุ่นผงในถุงทิ้งทุกครั้ง เพื่อที่เครื่องจะได้มีแรงดูดดีและไม่กินไฟ
  • เลิกใช้เครื่องดูดฝุ่นกับพื้นบ้านที่ทำความสะอาดง่าย ควรใช้ไม้กวาด และผ้าชุบน้ำถูพื้นแทน ได้ประหยัดและได้ออกแรงไปในตัวเลย

ดูแลรักษาและใช้อย่างถูกวิธี
  • ก่อนใช้งานตรวจสอบข้อต่อท่อดูด หรือชิ้นส่วนต่างๆ ให้แน่นไม่ให้เกิดการรั่วของกากาศ มอเตอร์อาจทำงานหนัก และไหม้ได้
  • ห้ามดูดฝุ่นที่เป็นเศษแก้ว เศษใบมีด หรือบุหรี่ที่กำลังติดไฟ จะก่ออันตรายต่อตัวเครื่อง
  • หมั่นถอดตัวกรองหรือตะแกรงดักฝุ่น ออกมาทำความสะอาดเพราะถ้าอุดตันจะดูดฝุ่นได้ไม่เต็มที่ และสิ้นเปลืองไฟ
  • เมื่อดูดฝุ่นเสร็จแล้ว ปล่อยให้เครื่องเย็นก่อนนำไปเก็บ เพื่อยืดอายุการใช้งาน
  • เปิดประตูหน้าต่างขณะดูดฝุ่น เพื่อให้มีการระบายความร้อนของตัวเครื่องได้ดี

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางลดค่าไฟฟ้าสำหรับหลอดไฟ


หลอดไส้ 100 วัตต์ ถ้าเปิดทิ้งไว้วันละ 1 ชั่วโมง 1 ล้านหลอด สิ้นเปลืองค่าไฟเดือนละ 9 ล้านบาท หรือปีละ 108 ล้านบาทหลอดผอม 36 วัตต์ ถ้าเปิดทิ้งไว้วันละ 1 ชั่วโมง 1 ล้านหลอด จะสิ้นเปลืองค่าไฟเดือนละ 4.14 ล้านบาท หรือปีละ 49.7 ล้านบาท หากใช้หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ชนิดที่มีบัลลาสต์ภายในขนาด 13 วัตต์ แทนหลอดไส้ขนาด 60 วัตต์ 1 ชั่วโมง จำนวน 1 ล้านหลอดทั่วประเทศจะประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 50.76 ล้านบาท

ลด...ละ...เลิก

  • ปิดหลอดไฟบางบริเวณให้เร็วกว่าที่เคยปฏิบัติ
  • อย่าเปิดไฟทิ้งไว้เมื่อไม่มีคนอยู่
  • ลดจำนวนหลอดไฟในบริเวณที่อาศัยแสงธรรมชาติได้
  • อย่าใช้หลอดไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน

ดูแลรักษาและใช้อย่างถูกวิธี
  • ใช้โคมไฟตั้งโต๊ะสำหรับอ่านหนังสือ หรือใช้แสงสว่างเฉพาะจุด
  • ทางเดิน เฉลียงหน้าบ้าน ภายในห้องน้ำ และบริเวณที่ต้องเปิดไฟทิ้งไว้นาน ควรใช้หลอดไฟฟ้าที่มีวัตต์ต่ำ
  • หมั่นทำความสะอาดตัวหลอด และโคมไฟไม่ให้มีฝุ่นเกาะ เพราะจะทำให้ความสว่างลดลง

ปรับปรุง...เปลี่ยนแปลง
  • ออกแบบบ้านโดยใช้แสงสว่างจากธรรมชาติมากที่สุด
  • ควรทาสีผนังบ้านหรือเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์สีอ่อนๆ เพื่อทำให้ห้องและบ้านดูสว่าง ลดการใช้หลอดไฟ
  • หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ใช้ไฟน้อยกว่า 4 เท่า เมื่อเทียบกับหลอดไส้ที่ให้ความสว่างเท่ากัน อายุการใช้งานของหลอดนานกว่าประมาณ 8 เท่า
  • หลอดผอมชนิดซุปเปอร์จะให้ความสว่างดีกว่าหลอดผอมชนิดทั่วไป
  • ใช้บัลลาสต์แกนเหล็กประสิทธิภาพสูง จะประหยัดกว่าใช้บัลลาสต์ชนิดแกนเหล็กธรรมดา ร้อยละ 45 หรืออาจเลือกใช้บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีขายทั่วไปแล้วในปัจจุบัน

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางลดค่าไฟฟ้าสำหรับพัดลม



พัดลมตั้งโต๊ะ 40 วัตต์ ใบพัด 12 นิ้ว ถ้าเปิด1 ชั่วโมง ระดับลมอ่อนสุดจะใช้ไฟ 0.028 หน่วย ระดับลมปานกลางใช้ไฟ 0.031 หน่วย (ค่าไฟมากขึ้น 1.1 เท่า) ระดับลมแรงสุดใช้ไฟ 0.038 หน่วย (ค่าไฟ มากขึ้น 1.4 เท่า) ถ้าเปิดทุกวัน วันละ 5 ชั่วโมง ที่ระดับลมแรงสุด จะใช้ไฟมากกว่าเปิดที่ระดับลมอ่อนสุด 4.50 บาทต่อเดือน ถ้าทำเช่นนี้ 1 ล้านเครื่อง จะสิ้นเปลืองค่าไฟ 4.50 ล้านบาทต่อเดือน หรือปีละ 54 ล้านบาท

ลด...ละ...เลิก
  • เลิกเปิดพัดลมทิ้งไว้เมื่อไม่มีใครอยู่ เปิด 1 ชั่วโฒงพร้อมกันวันละ 1 ล้านเครื่อง (ขนาด 16 นิ้ว 66 วัตต์) สิ้นเปลืองค่าไฟฟ้าเดือนละ 5.94 ล้านบาท
  • ถ้าใช้พัดลมที่มีระบบรีโมทคอนโทรล ต้องถอดปลั๊กทันทีที่เลิกใช้งาน
  • ยิ่งเปิดลมแรงขึ้น ยิ่งใช้ไฟฟ้ามากขึ้น

ดูแลรักษาและใช้อย่างถูกวิธี
  • ทำความสะอาดใบพัด ตะแกรงครอบ และแผงหุ้มมอเตอร์พัดลม อย่าให้มีฝุ่นเกาะ
  • อย่าให้ใบพัดโค้งงอผิดส่วน ความแรงลมจะลดลง
  • ตั้งพัดลมในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก

ฝักบัวและก๊อกน้ำประหยัดน้ำ


น้ำประปาเป็นน้ำที่ผ่านการกรองและฆ่าเชื้อแล้ว ซึ่งในชีวิตประจำวันของเราจะมีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องเสอม แต่มักถูกนำไปใช้อย่างไม่คุ้มค่า การลดการใช้น้ำประปานอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้แก่ครัวเรือนเองแล้วยังเป็นการประหยัดงบประมาณของรัฐด้วย

การเลือกซื้อฝักบัวและก๊อกน้ำก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้เราอนุรักษ์พลังงานที่เราหวงแหนไว้ได้

โครงการฉลากเขียวได้กำหนดก๊อกน้ำ และอุปกรณ์ประหยัดน้ำ โดยมีอัตราการไหลดังนี้

ชนิดของก๊อกน้ำและอุปกรณ์ประหยัดน้ำ ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านไม่เกิน
ก๊อกน้ำ
ก๊อกน้ำที่เปิดด้วยมือ 6 ลิตรต่อนาที
ก๊อกน้ำปิดอัตโนมัติสำหรับอ่างล้างหน้า-ล้างมือ 0.5 ลิตร ในเวลาไม่เกิน 6 วินาที
ก๊อกน้ำอัตโนมัติ 5 ลิตรต่อนาที
ฝักบัวอาบน้ำ 7 ลิตรต่อนาที
วาล์วขับล้างสำหรับที่ปัสสาวะชาย 1.5 ลิตร ในเวลาไม่เกิน 15 วินาที
ชุดหัวฉีดชะล้าง 5 ลิตรต่อนาที

หมายเหตุ ที่แรงดัน 0.1 เมกะพาสคัสหรือ 1 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ชักโครกประหยัดน้ำ


คนในกรุงเทพฯ ใช้น้ำเฉลี่ย 320-340 ลิตรต่อคนต่อวัน ในการใช้ส้วมชักโครกแบบทั่วไปจะใช้น้ำประมาณ 13 ลิตรต่อครั้ง หากแต่ละคนกดชักโครกโดยเฉลี่ย 4 ครั้งต่อวัน จะใช้น้ำทั้งสิ้น 52 ลิตร คิดเป็นร้อยละ 30 ของการใช้น้ำทั้งหมด เนื่องจากจำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้มีการใช้น้ำในปริมาณมาก ขณะที่น้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปามีจำกัด การส่งเสริมให้เกิดการใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำจะเป็นหนทางในการช่วยลดการใช้น้ำได้ประมาณ 24 ลิตรต่อคนต่อวัน




  • โถสุขภัณฑ์แบบทั่วไปจะใช้น้ำประมาณ 13 ลิตรต่อการชักโครก 1 ครั้ง
  • ชักโครกประหยัดน้ำระบบจังหวะเดียว (Single Flush) มีปริมาณน้ำชักโ๕รกไม่เกิน 6 ลิตรต่อครั้ง
  • ชักโครกประหยัดน้ำระบบสองจังหวะ (Dual Flush) แบบ Full Flush มีปริมาณน้ำชักโครกไม่เกิน 6 ลิตรต่อครั้ง แบบ Reduce Flush มีปริมาณน้ำชักโ๕รกไม่เกิน 3 ลิตรต่อครั้ง

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางลดค่าไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศ


ปิดเครื่องปรับอากาศขนาด 1 ตัน (12,000 บีทียู)เร็วขึ้นวันละ 1 ชั่วโมง ลดไฟได้ 21 หน่วยต่อเดือน

ประหยัดได้ 63 บาทต่อเดือน ถ้าปิดเร็วขึ้นวันละ 1 ชั่วโมง 1 ล้านเครื่อง

จะประหยัดไฟให้ประเทศได้เดือนละ 63 ล้านบาท หรือ 756 ล้านบาทต่อปี

ลด...ละ...เลิก
  • ไม่ตั้งตู้เย็น ไม่รีดผ้า ไม่ต้มน้ำในห้องที่มีการปรับอากาศ
  • ตั้งอุณหภูมิที่ร่างกายรู้สึกสบาย โดยไม่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส และทุกอุณหภูมิที่เพิ่ม 1 องศาเซลเซียส จาก 25 องศาเซลเซียส จะช่วยประหยัดไฟได้ร้อยละ 10 แต่ไม่ควรเกิน 28 องศาเซลเซียส ขึ้นไป เพราะจะไม่รู้สึกเย็นแต่เครื่องยังทำงานอยู่
  • ถ้าไม่อยู่ในห้องมากกว่า 1 ชั่วโมง ควรปิดเครื่องปรับอากาศ
  • ไม่ปลูกต้นไม้หรือตากผ้าในห้องที่มีการปรับอากาศ เพราะจะเป็นการเพิ่มความชื้นทำให้เครื่องทำงานหนักขึ้น


ดูแลรักษาและใช้อย่างถูกวิธี
  • หมั่นทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้มีฝุ่นเกาะ จะประหยัดไฟร้อยละ 5-7
  • อย่านำสิ่งของไปวางขวางทางลมเข้า-ออกของชุดระบายความร้อนที่อยู่นอกบ้าน ทำให้เคึรื่องระบายความร้อนได้ไม่ดี ทำงานหนัก และเปลืองไฟ
  • อย่าติดตั้งชุดระบายความร้อนใกล้ผนังเกินไป เพราะเครื่องจะใช้ไฟมากขึ้นร้อยละ 15-20 ควรตั้งให้ห่างอย่างน้อย 15 เซนติเมตร เพื่อระบายความร้อนได้ดี
  • อย่านำสิ่งของขวางทางลมเข้า-ออกของเครื่องปรับอากาศ เพราะเครื่องจะทำงานหนักและเปลืองไฟ

ปรับปรุง...เปลี่ยนแปลง
  • เลือกขนาดเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมกับห้อง
  • ทาสีผนังด้านนอกด้วยสีอ่อน เพื่อสะท้อนความร้อนไม่ให้เข้าสู่อาคาร
  • ติดตั้งกันสาด มู่ลี่ ให้กับหน้าต่าง เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดด

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางลดค่าไฟฟ้าสำหรับตู้เย็น



ตู้เย็นแบบ 1 ประตู ขนาด 5-6 คิว 100 วัตต์เปิดตลอด 24 ชั่วโมง (โดยคอมเพรสเซอร์ทำงานร้อยละ 50) ใช้ไฟวันละ 1.2 หน่วย จะจ่ายค่าไฟฟ้าประมาณ 108 บาทต่อเดือน










ลด...ละ...เลิก
  • เลิกนำอาหารที่ร้อนหรือยังอุ่นแช่ไว้ในตู้เย็น
  • ลดการเปิดตู้เย็นโดยไม่จำเป็น เพราะค่าไฟฟ้าจะเพิ่มตามจำนวนครั้งของการเปิดตู้เย็น
  • เลิกเปิดประตูตู้เย็นค้างไว้เป็นเวลานานๆ
  • เลิกใส่ของแช่จนแน่นตู้เย็น เพราะความเย็นจะไหลเวียนไม่สะดวก
  • อย่าตั้งตู้เย็นใกล้เตาไฟ หรือหม้อหุงข้าว หรือถูกแสงอาทิตย์โดยตรง เพราะจะทำให้ตู้เย็นระบายความร้อนได้ไม่ดี สิ้นเปลืองไฟฟ้า

ดูแลรักษาและใช้อย่างถูกวิธี
  • ควรตั้งอุณหภูมิในตู้เย็น 3-6 องศาเซลเซียส และในช่องแช่แข็งระหว่าง -15 ถึง -18 องศาเซลเซียส ถ้าตั้งไว้เย็นกว่าที่กำหนด 1 องศาเซลเซียส จะสิ้นเปลืองไฟเพิ่มขึ้นร้อยละ 25
  • เปิดประตูตู้เย็นให้กว้างแค่พอควร
  • หมั่นละลายน้ำแข็งอย่าให้น้ำแข็งเกาะในช่องแช่แข็งมากเกินไป โดยกดปุ่มทำละลายน้ำแข็งหรือดึงปลั๊กออกจนน้ำแข็งละลายหมด
  • ควรตั้งตู้เย็นห่างจากผนังด้านหลังและด้านข้างอย่างน้อย 15 เซนติเมตร เพื่อให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้น ประหยัดไฟฟ้าได้ร้อยละ 39

ปรับปรุง...เปลี่ยนแปลง
  • เลือกตู้เย็นที่มีขนาดเหมาะสมกับครอบครัว
  • เลือกตู้เย็นที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5
  • ตรวจสอบยางขอบประตูตู้เย็น โดยเสียบกระดาษระหว่างขอบยางแล้วปิดประตู ถ้าสามารถเลื่อนกระดาษขึ้นลงได้ แสดงว่าขอบยางเสื่อม ควรเปลี่ยนใหม่เพราะจะทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนัก

แจกฟรี ! โปรแกรมบริหารการใช้ไฟฟ้า 1 มิเตอร์

สวัสดีครับ มีข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจโปรแกรมบริหารการใช้ไฟฟ้า (Demand Management System) เป็นโปรแกรมสำหรับตรวจสอบค่าไฟฟ้าตลอดจนบริหารจัดการ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยคุณได้เรื่องการประหยัดพลังงานไฟฟ้า เป็นโปรแกรมของคนไทย เขียนเป็น 2 ภาษา คือ ไทย และ อังกฤษ

เพี่ยงคุณมี Electronic Power meter ก็สามารถนำโปรแกรมไปใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายครับ ลองดูรายละเอียดที่นี่นะครับ Demand Management System สนใจก็ลองขอมาใช้ดูนะครับ แต่เป็นโปรแกรมสำหรับผู้ประกอบการนะครับ ไม่ใช่ผู้ใช้ไฟฟ้าตามบ้านทั่วไป

แนวทางลดค่าไฟฟ้าสำหรับโทรทัศน์


โทรทัศน์ขนาด 21 นิ้ว 110 วัตต์ หากเปิดดูแต่ละวัน วันละ 4 ชั่วโมง แต่ปิดด้วยรีโมทคอนโทรล โดยยังเสียบปลั๊กอยู่ตลอดทั้งวัน (Standby) จะสิ้นเปลืองไฟ 5.4 หน่วยต่อเดือน ถ้าเสียบปลั๊กทิ้งไว้อย่างนี้ 1 ล้านเครื่อง จะสิ้นเปลืองไฟ 16.2 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 194.4 ล้านบาทต่อปี



ลด...ละ...เลิก

  • เลิกเปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้โดยไม่มีคนดู เปิดทิ้งไว้วันละ 1 ชั่วโมง พร้อมกัน 1 ล้านเครื่อง (21 นิ้ว 110 วัตต์) สิ้นเปลืองค่าไฟฟ้าเดือนละ 9.9 ล้านบาท
  • เลิกปรับจอภาพให้สว่างเกินความจำเป็น เพราะหลอดภาพจะมีอายุการใช้งานสั้นและสิ้นเปลืองไฟ
  • เลิกเปิดโทรทัศน์หลายเครื่องเพื่อดูเรื่องเดียวกันในเวลาเดียวกัน
  • เลิกเปิดโทรทัศน์ล่วงหน้าเพื่อรอดูรายการที่ชอบ ควรเปิดดูรายการเมื่อถึงเวลาที่ออกอากาศ
  • เลิกปิดโทรทัศน์ด้วยรีโมทคอนโทรล เพราะโทรทัศน์จะยังกินไฟอยู่ ควรปิดสวิตซ์ที่ตัวเครื่องแทน
  • เลิกเปิดโทรทัศน์โดยต่อสายผ่านเข้าเครื่องวิดีโอ เพราะต้องสิ้นเปลืองไฟฟ้าให้กับวิดีโอโดยไม่จำเป็น

ปรับปรุง...เปลี่ยนแปลง
  • เลือกซื้อโทรทัศน์ขนาดให้เหมาะสมกับความจำเป็น เพราะขนาดใหญ่จะกินไฟมากกว่าขนาดเล็ก
  • เลือกซื้อโทรทัศน์ที่มีระบบตั้งเวลาปิดอัตโนมัติ จะช่วยประหยัดไฟฟ้าสำหรับผู้ที่หลับหน้าโทรทัศน์หรือลืมปิดเครื่อง
  • โทรทัศน์ที่มีระบบรีโมทคอนโทรลจะใช้ไฟฟ้ามากกว่าระบบทั่วไป เพราะมีวงจรเพิ่ม และกินไฟฟ้าตลอดเวลาเมื่อยังเสียบลั๊กอยู่

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางลดค่าไฟฟ้าสำหรับคอมพิวเตอร์

ถ้าเปิดชุดคอมพิวเตอร์จอภาพ 15 นิ้ว ทิ้งไว้วันละ 3 ชั่วโมง จะใช้ไฟ 9 หน่วยต่อเดือนค่าไฟเดือนละประมาณ 27 บาท ถ้าเปิดทิ้งไว้เช่นนี้ 1 ล้านเครื่อง จะสิ้นเปลืองค่าไฟเดือนละ 27 ล้านบาท หรือ 324 ล้านบาทต่อปี


ถ้าใช้คอมพิวเตอร์ขนาดจอ 14 นิ้ว 90 วัตต์ ใช้งานทุกวัน วันละ 2 ชั่วโมง จะใช้ไฟ 5.4 หน่วยต่อเดือน ค่าไฟประมาณเดือนละ 16.20 บาท ถ้าใช้ขนาดนี้ 1 ล้านเครื่องทั่วประเทศ จะเป็นค่าไฟประมาณ 16.2 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 194.4 ล้านบาทต่อปี

ด...ละ...เลิก

  • ไม่เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้นานๆ เพราะทำให้สิ้นเปลืองไฟฟ้า
  • ถอดปลั๊กเมื่อเลิกใช้งาน
  • ปิดจอภาพเมื่อไม่ใช้งานนานเกินกว่า 15 นาที

ดูแลรักษาและใช้อย่างถูกวิธี
  • ตั้งคอมพิวเตอร์ในบริเวณที่มีการระบายความร้อนได้ดี
  • ควรตั้งระบบ Screen Saver เพื่อรักษาคุณภาพของหน้าจอ
  • ตรวจสอบดูว่าระบบประหยัดพลังงานในเครื่องถูกสั่งให้ทำงานแล้วหรือไม่ ถ้ายังต้องสั่งให้ระบบนี้ทำงานเพราะจะช่วยประหยัดไฟ

ปรับปรุง...เปลี่ยนแปลง
  • เลือกใช้คอมพิวเตอร์ที่มีระบบประหยัดพลังงาน โดยสังเกตจากสัญลักษณ์ Energy Star เพราะระบบนี้จะใช้กำลังไฟฟ้าลดลงร้อยละ 55 ในขณะที่รอทำงาน
  • ควรซื้อจอภาพที่มีขนาดไม่ใหญ่เกินไป เช่น จอภาพขนาด 14 นิ้ว จะใช้พลังงานน้อยกว่าจอภาพขนาด 17 นิ้ว ถึงร้อยละ 25
  • คอมพิวเตอร์ชนิดกระเป๋าหิ้วประหยัดพื้นที่ และประหยัดไฟฟ้าได้มากกว่าแบบตั้งโต๊ะ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ใช้ด้วย

ทำอย่างไรจึงจะประหยัดไฟฟ้าได้ ?



ประหยัดค่าไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องยาก เริ่มต้นตั้งแต่ วิธีง่ายๆ ทำได้ด้วยตัวคุณเอง คุณ ลดการใช้ไฟฟ้า ลงได้ คุณก็ประหยัดค่าไฟลงได้ ยิ่งใช้อย่าง ถูกวิธี.. ยิ่งประหยัด และประหยัดมากขึ้นเมื่อมีการ ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง บ้าง



ขั้นที่ 1 ลด...ละ...เลิก
ต้องลด...ละ...เลิก...พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าแบบสิ้นเปลือง เช่น
  • ลดเการเปิดไฟ อย่างจากที่เคยเปิด 12 ชั่วโมงให้เหลือ 8 ชั่วโมง
  • ลดการเปิดเครื่องปรับอากาศในห้องนอนลงวันละครึ่งชั่วโมง
  • ละเว้นการเปิดวิทยุฟังเพลงพร้อมกับเปิดโทรทัศน์
  • เลิกการเปิดโทรทัศน์รายการเดียวกันตนละเครื่อง คนละห้อง ชวนมาดูพร้อมกันที่เครื่องเดียวกัน ประหยัดทั้งค่าไฟ อบอุ่นใจได้อยู่ด้วยกันทั้งครอบครัว
  • เลิกเสียบปลั๊กกระติกน้ำร้อนแช่ทิ้งไว้เพื่อรอชงกาแฟครั้งต่อไป ถอดปลั๊กทันทีที่เลิกใช้

ขั้นที่ 2 บำรุงรักษา...และใช้อย่างถูกวิธี
หมั่นบำรุงรักษายืดอายุเครื่องใช้ไฟฟ้า ใช้่อย่างถูกวิธีก็ยิ่งประหยัดไฟ เช่น
  • ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมที่ 25 องศาเซลเซียส
  • ทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศอย่าให้มีฝุ่นเกาะ
  • ตั้งตู้เย็นให้ห่างจากผนังอย่างน้อย 15 เซนติเมตรเพื่อให้ระบายความร้อนได้ดี
  • ละลายน้ำแข็งในตู้เย็นสม่ำเสมอ เพื่อให้การทำความเย็นมีประสิทธิภาพสูง
  • ไม่นำอาหารที่ยังร้อยเก็บในตู้เย็น
  • เช็ดผมให้แห้งหมาดๆ ด้วยผ้าก่อนใช้เครื่องเป่าผม

ขั้นที่ 3 ปรับปรุง...เปลี่ยนแปลง
หากจะประหยัดมากขึ้น อาจต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์บางอย่าง หรือเปลี่ยนจากอุปกรณ์เก่าที่ใช้ไฟมากและไม่มีประสิทธิภาพเป็นตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น
  • ติดฟิล์มที่สะท้อนรังสีความร้อนให้หน้าต่างกระจก เพื่อลดความร้อนเข้าบ้าน
  • ปลูกต้นไม้เพื่อบังแสงแดดให้บ้าน
  • ติดฉนวนที่ฝ้าเพดาน ลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ
  • เปลี่ยนหลอดไส้เป็นหลอดตะเกียบ
  • เมื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าควรศึกษาคู่มือการใช้อย่างละเอียด

วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วิธีการเลือกซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าและการคำนวณค่าไฟฟ้า












  • ถ้าท่านกำลังตัดสินใจซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดใด นอกจากจะพิจารณาด้านราคาที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงรายจ่ายค่าไฟฟ้าต่อเดือนที่จะเพิ่มขึ้น ค่าติดตั้ง ค่าซ่อมแซม คุณภาพ และความปลอดภัยของอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นด้วย
  • ท่านควรจะรู้ว่าอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านท่านมีอะไรบ้าง แต่ละตัวมีขนาดกำลังไฟฟ้ากี่วัตต์
  • ให้ความสนใจเกี่ยวกับอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามาก และมีชั่วโมงการใช้งานนานในบ้านดูว่ามีอะไรบ้าง แล้วศึกษาวิธีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรายละเอียดข้อพิจารณามีดังนี้
1. ราคา ราคานับเป็นข้อพิจารณาในการเลือกซื้อเป็นลำดับต้นๆ ของภูบริโภค แต่การตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ควรพิจารณาเรื่อง มาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานประกอบด้วย ซึ่งแม้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานสูง อาจมีราคาสูงกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมาตรฐานและประสิทธิภาพพลังงานต่ำแต่ การใช้งานในระยะยาว เครื่องใช้ไฟฟ้าประสิทธิภาพพลังงานสูง จะมีความคุ้มค่าในด้านเศรษฐศาสตร์มากกว่า

2. ค่าไฟฟ้า
อุปกรณ์และ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ จะแสดงกำลังไฟฟ้า (Power) เป็ฯจำนวนวัตต์หรือกิโลวัตต์ (1 กิโลวัตต์ = 1,000 วัตต์) ประทับไว้บนแผ่นป้าย (Nameplate) ของอุปกรณ์นั้น ค่าไฟฟ้าสามารถคำนวณได้ดังนี้

หน่วยไฟฟ้าที่ใช้ต่อเดือน = (วัตต์ของเครื่องใช้ไฟ้า x ชั่วโมงที่ใช้ต่อเดือน)/1,000
ค่าไฟฟ้าต่อเดือน =

หน่วยไฟฟ้าที่ใช้ต่อเดือน x อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วย


3. ค่าติดตั้งและค่าซ่อมแซม


4. ความปลอดภัยและความเชื่อถือได้ในคุณภาพ
ก่อน ที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ควรพิจารณาถึงเครื่องหมายรับรองคุณภาพของสินค้าของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (มอก.) และฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงานไฟฟ้า (ฉลากเบอร์ 5)

สำนึกในเรื่องประหยัด ควรฝึกหัดให้เคยชิน


พลังงานเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต และเนื่องจากปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ปริมาณจำกัด และราคามีความผันผวน การอนุรักษ์พลังงานโดยการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ หากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้า และค่าครองชีพของประชาชนจะเพิ่มขึ้นเพราะต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ผู้ที่จะมีผลกระทบมากที่สุดคือผู้ที่มีรายได้น้อย นอกจากนั้นแล้วการใช้พลังงานยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ซึ่งทำให้อุณหภูมิโรคสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ การมีจิตสำนึกในการประหยัดพลังงานและดำเนินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพ่ออยู่หัว จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านค่าใช้จ่ายพลังงานของครัวเรือนได้

บ้านอยู่อาศัยใช้พลังงานในปี 2550 รวมทั้งสิ้น 28,041 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 21 ของการใช้พลังงานของประเทศ

ที่มา กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กระทรวง พลังงานเชิญร่วมถ่ายทอดความคิดและทัศนคติ ผ่านการประกวดภาพถ่ายภายใต้แนวคิด FOCUS THE FUTURE ENERGY Photography Contest 2010

สวัสดีครับ วันนี้มีข่าวดีสำหรับผู้ที่ชอบมองผ่านเลนส์มาฝากกันนะครับ กระทรวง พลังงานเชิญร่วมถ่ายทอดความคิดและทัศนคติ ผ่านการประกวดภาพถ่ายภายใต้แนวคิด FOCUS THE FUTURE ENERGY Photography Contest 2010 มองพลังงานผ่านเลนส์ ทางเลือกเชื้อเพลิงอนาคต ชิงเงินรางวัลกว่า 3 แสนบาท พร้อมโล่รางวัลและใบประกาศนียบัตร โดยมีกติกาการส่งผลงาน ดังนี้

  • ให้ จัดส่งผลงานเป็นภาพสีหรือขาวดำ ขนาด 10X18 นิ้ว ถ่ายด้วยกล้อมฟิล์มหรือกล้องดิจิตอลและสามารถอัดภาพเป็นพาโนรามาได้แต่ไม่ เกิน 10X18 นิ้ว พร้อมติดลงกลางกรอบกระดาษแข็งสีดำขนาด 16X22 นิ้ว และเขียนชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ชื่อผลงานและอธิบายแนวคิดของการถ่ายภาพ
  • ผู้ ที่ส่งผลงานเข้าประกวดจากการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มหรือกล้องดิจิตอลจะต้อง ส่งภาพถ่ายพร้อมแนบไฟล์โดยบันทึกใส่ CD เป็นสกุล JPG หรือไฟล์ TIFF ที่มีขนาดของภาพไม่ต่ำกว่า 8 ล้านพิกเซล เท่านั้น
  • ภาพ ที่ส่งเข้าประกวดจะต้องเป็นภาพที่ถ่ายในเมืองไทย ภาพถ่ายต้องมีอายุไม่เกิน 2 ปี และไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ หรือส่งเข้าประกวดที่ใดมาก่อน โดยผู้เข้าร่วมประกวดสามารถปรับสี ตกแต่งแก้ไขเพื่อให้ภาพมีคุณภาพดีขึ้น แต่ทั้งนี้ภาพถ่ายต้องแลดูเป็นธรรมชาติ เหมือนภาพถ่ายปกติ
  • ผู้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดจะต้องเป็นผู้ถ่ายภาพด้วยตนเอง
  • ผู้เข้าร่วมประกวด 1 ท่าน สามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ไม่เกิน 10 ภาพ
  • ภาพถ่ายที่ส่งเข้าร่วมประกวดทุกภาพถือเป็นลิขสิทธิ์ของกระทรวงพลังงานและไม่มีการส่งผลงานคืนหลังสิ้นสุดการประกวด


ทั้ง นี้ผู้สนใจสามารถส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม- 16 สิงหาคม 2553 โดยส่งผลงานมาที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ อาคาร 9 ชั้น 1 สำนักปลัดกระทรวงพลังงาน 17 ถ.พระราม 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กทม. 10330 ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดการประกวดและรับใบสมัครส่งผลงานเพิ่มเติมได้ ที่ www.energy.go.th หรือ www.energyphoto2010.com หรือ 02 632 8040

ผมเองก็ชอบถ่ายภาพ ว่าจะลองส่งดูกับเข้าบ้างเหมือนกันครับ

การประหยัดพลังงานในโคมไฟถนนและไฟฟ้าสาธารณะ


การประหยัดพลังงานในโคมไฟถนนและไฟฟ้าสาธารณะ มีแนวทางปฏิบัติได้หลายแนวทาง ตามความเหมาะสมกับการใช้งาน แต่ที่พบเห็นกันในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี คือ


  1. การดับไฟ
  2. การลดจำนวนดวงโคม
  3. การเปลี่ยนขนาดของดวงโคมให้มีกำลังไฟฟ้าลดลง
  4. การปรับลดกำลังไฟฟ้าที่ป้อนให้ดวงโคม
การดับไฟ

การดับไฟของโคมไฟถนนและไฟฟ้าสาธารณะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ทำให้การดับไฟโคมไฟถนนและไฟฟ้าสาธารณะบางโคมที่ไม่จำเป็นในถนนที่มีการจราจรเบาบาง ส่วนมากจะพบในถนนนอกเมือง ซึ่งกฎเกณฑ์จะไม่ตายตัว เช่น อาจจะดับไฟถนนทั้งสาย หรือ ดับโคมเว้นโคม เป็นต้น วิธีนี้มีข้อเสีย กล่าวคือ ทำให้พื้นที่การใช้งานมีความสว่างไม่สม่ำเสมอ ทำให้ประสาทตาทำงานหนัก ซึ่งทางเทคนิคเรียกว่า การกระจายของแสงไม่สม่ำเสมอ

การลดจำนวนดวงโคม

การลดจำนวนดวงโคมก็เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้กันในถนนที่มีการจราจรเบาบาง โดยจะลดจำนวนดวงโคมที่ติดตั้งบนเสาลง วิธีนี้จะมีข้อเสียเหมือนวิธีการดับไฟ กล่าวคือ ทำให้พื้นที่การใช้งานมีความสว่างไม่สม่ำเสมอ ทำให้ประสาทตาทำงานหนัก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้

การเปลี่ยนขนาดของดวงโคมให้มีกำลังไฟฟ้าลดลง

การเปลี่ยนขนาดของดวงโคมให้มีกำลังไฟฟ้าลดลงทำให้สามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าลงได้ อาจจะไม่เหมาะสมกับการใช้งานในช่วงที่มีการจราจรหนาแน่น เพราะวิธีการดังกล่าวทำให้ความสว่างบนท้องถนนน้อยลง

การปรับลดกำลังไฟฟ้าที่ป้อนให้ดวงโคม

การลดกำลังไฟฟ้าที่ป้อนให้กับดวงโคม จะต้องติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเพื่อควบคุมกำลัง ไฟฟ้าที่ป้อนให้กับดวงโคมให้ได้ตามความต้องการ โดยควรคำนึงถึงสภาพการใช้งานและช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการใช้งาน ส่วนใหญ่การออกแบบค่าความสว่างของระบบเพื่อใช้งานจะคำนวณจากค่าความจำเป็นที่ต้องใช้งานในสภาวะสูงสุด ซึ่งบางครั้งความจำเป็นสูงสุดอาจเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เช่น สำหรับโคมไฟถนนและไฟฟ้าสาธารณะ ค่าความสว่างจะมีความต้องการสูงสุดในช่วงการจราจรหนาแน่น ( เวลาประมาณ 18.00-22.00 น. และ ช่วงเวลา04.00-06.00 น. ในตอนเช้า ) ส่วนช่วงเวลาที่มีการจราจรเบาบาง ( เวลา 22.00-04.00 น.) พบว่าระดับความสว่างสามารถลดลงได้

กระบวนการแปลงพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานแสงของโคมไฟนั้น มีค่าแรงดันไฟฟ้าเป็นตัวแปรหลักในการลดหรือเพิ่มการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เกิดขึ้น และยังมีความสัมพันธ์กับค่าความสว่างอีกด้วย จากความสัมพันธ์ดังกล่าว ถ้าเราควบคุมแรงดันไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่ต่ำลงในช่วงเวลาที่มีการสัญจรน้อย เป็นผลทำให้กำลังไฟฟ้าลดลง ก็จะทำให้เกิดการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงด้วย ดังรูปที่ 1

รูปที่ 1 การประหยัดพลังงานจากการลดกำลังไฟฟ้าและความสว่าง

การประหยัดพลังงานไฟฟ้าของไฟถนนและไฟสาธารณะ โดยทั่วไปใช้หลักการลดแรงดันหรือกระแสเพื่อลดกำลังไฟฟ้า

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

Energy Man รายงานตัว


สวัสดีครับ เพื่อนร่วมโลกทุกท่าน วันนี้ผมขอเปิดตัวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งการที่จะช่วยเป็นกลไกลเล็กๆ ในการให้ข้อมูลข่าวสาร และเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ในแง่ของเทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ไว้ ให้ลูกหลานของเราได้มีชีวิตอยู่บนโลกที่น่าอยู่ ไม่ใช่โลกที่ร้อนขึ้นทุกวันๆ

โดยความเป็นไปของบล็อกนี้ในระยะแรกๆ ผมก็จะพยายามหาบทความด้านอนุรักษ์พลังงานมาโพสไว้ให้อ่านเล่นกันก่อนสักระยะนะครับ หลังจากนั้นก็จะหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมาให้อ่านกันเรื่อยๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมหวังจากการทำบล็อกนี้ขึ้นมาคือการชักชวนเพื่อนๆ ให้มีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ไว้ เพราะฉนั้นถ้ามีกิจกรรมอะไรดีๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมผมก็จะนำมาประชาสัมพันธ์ให้ทราบกัน เพื่อที่เราจะได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมนั้นๆ